ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเข้าใจลักษณะของโรคที่คลาดเคลื่อนอยู่มาก การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเฉพาะโรคริดสีดวงทวารอย่างเดียว แต่อาจจะมีติ่งเนื้อในลำไส้ หรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่ซ่อนอยู่ได้ ในบทความนี้จะมาเจาะลึกทุกเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับริดสีดวงทวาร ดังนี้

  1. ริดสีดวงทวาร คืออะไร มีกี่ระยะ และอาการเป็นอย่างไร
  2. ริดสีดวงทวารหายเองได้ไหม เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
  3. การวินิฉัยโรคริดสีดวงทวาร
  4. วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร แบบไม่ต้องผ่าตัด
  5. วิธีรักษาด้วยการ ‘ผ่าตัดริดสีดวง’
  6. การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
  7. ผ่าตัดริดสีดวง พักฟื้นกี่วัน และวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด
  8. ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดริดสีดวง หลังการผ่าตัดจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกไหม
  9. วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
  10. ทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสมิติเวช
  11. ห้องผ่าตัด Critical Care Complex (CCC) นวัตกรรมการผ่าตัดยุคใหม่
  12. การตรวจคัดกรองก่อนผ่าตัด (COVID-19 Screening)
  13. บริการ Samitivej PACE ติดตามคนไข้ทุกสถานะการผ่าตัด
  14. บริการ Samitivej PROMPT พร้อมอยู่ข้างคุณทุกเวลา เมื่อพักรักษาในโรงพยาบาล
  15. ผ่าตัดริดสีดวงราคาเท่าไหร่ ใช้สิทธิประกันภัยได้หรือไม่
  16. ขั้นตอนการใช้บริการ ปรึกษาหมอออนไลน์

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

โดยปกติแล้วบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนักจะมีเส้นเลือดและหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่ เมื่อเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการบวม และหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย จะก่อให้เกิดเป็นโรคริดสีดวงทวารขึ้น ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายอันและหลายตำแหน่ง โดยริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

1. ริดสีดวงทวารภายใน จะเกิดขึ้นภายในทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ จะตรวจพบต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ ตามขนาดจากเล็กไปใหญ่ นั่นคือ

  • ระยะที่ 1 ขนาดเล็ก อยู่ข้างในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดสด ๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
  • ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จเรียบร้อย จะมีเลือดออกได้บ่อยขึ้น สีแดงสด
  • ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงขนาดใหญ่ และ โผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่กลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออกบ่อยๆ และ มีอาการระคายเคืองมากขึ้น
  • ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโตมากโผล่ออกมาด้านนอกไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวด รบกวนชีวิตประจำวัน

2. ริดสีดวงทวารภายนอก จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกัน

ริดสีดวงทวารหายเองได้ไหม เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ แล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก บางคนเมื่อถ่ายเป็นเลือดก็เข้าใจว่าตนเองเป็นโรคริดสีดวงทวาร ก็ไปหาซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งรับประทานไปเท่าไหร่ก็ไม่หาย และอาการอาจหนักขึ้น เพราะรักษาไม่ตรงโรค

นอกจากนี้อาการของริดสีดวงทวาร เนื้องอก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีความคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้น ควรรีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเหล่านี้ เช่น

  • ถ่ายมีมูกขาว ๆ ปนกับเลือดสีคล้ำ ๆ
  • มีภาวะซีดร่วมด้วย
  • ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
  • รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา
  • มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
  • ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
  • น้ำหนักลดลง
  • มีประวัติครอบครัวมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว

การวินิจฉัยโรคริดสีดวงทวาร

วิธีการที่แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัยมีหลายวิธี เริ่มจากการตรวจทวารหนักด้วยมือหรือการคลำเพื่อแยกโรค เนื่องจากริดสีดวงอาจมีอาการที่คล้ายกับโรคอื่น ๆ การตรวจโดยการส่องกล้อง Proctoscopy หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งจะเลือกวิธีการวินิจฉัยด้วยวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับอาการ อายุ ประวัติการบาดเจ็บ และปัจจัยอื่น ๆ ของตัวผู้ป่วย

วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร

วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

ใช้รักษาริดสีดวงทวารภายใน ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 คือขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

  • การเหน็บยา โดยแพทย์จะสั่งยาเหน็บรักษาริดสีดวงภายในที่ช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น (ไม่ช่วยในริดสีดวงภายนอก)
  • การฉีดยา เข้าไปในตำแหน่งที่กำหนดใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวงเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง โดยจะมีการฉีดซ้ำทุก 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
  • การใช้ยางรัด (Rubber band ligation) บริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้ ไม่ควรใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้มีเลือดออกมากไหลไม่หยุด

2. การรักษาโดยการผ่าตัดริดสีดวง

เหมาะกับริดสีดวงภายนอกอักเสบ และ ริดสีดวงภายใน ระยะที่ 3 และระยะที่ 4

  • การผ่าตัดริดสีดวงแบบมาตรฐานปกติ
    เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและก่อปัญหาออกมา และรวบตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงนั้นๆ โดยไม่ทำอันตรายกับหูรูดทวารหนัก ผู้ป่วยสามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติหลังผ่าตัด ซึ่งได้ผลที่ดีระยะยาวกว่าวิธีอื่นๆ มีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด หากผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องฉีดยาชาบล็อกหลัง แต่จะฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ป่วยหลับ และ ฉีดยาฉาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บขณะผ่าตัด และใช้ไหมละลายในการเย็บ ทำให้ไม่ต้องมาทำแผล และ ไม่ต้องตัดไหม นอกจากนั้นไม่ต้องนั่งแช่ก้น หรือ นั่งห่วงยางเหมือนในอดีต
  • การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler)
    เหมาะกับริดสีดวงทวารภายในเท่านั้น และต้องไม่ใหญ่เกินไป , เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีริดสีดวงทั้งภายในและนอกร่วมกัน จึงมีข้อบ่งชี้น้อยในการใช้เครื่องมือนี้ , แพทย์จะต้องใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงภายใน อย่างระมัดระวัง เพราะถ้าตัดต่ำเกินไป และ ตัดถูกผิวหนังด้านนอกด้วย จะทำให้เจ็บมาก และ ในระยะยาวอาจจะมีปัญหารูทวารตีบตันได้ เพราะมีตะเข็บโลหะเป็นวงแหวนฝังตัวอยู่ถาวร
  • การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์
    เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ยังไม่รุนแรงและหัวไม่ใหญ่นัก โดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อย ๆ ฝ่อลง ได้ผลดีพอสมควร มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเครื่องเลเซอร์ แต่ในระยะยาวมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้มาก คล้ายการรักษาด้วยการฉีดยาซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
  • การผ่าตัดริดสีดวงแบบ Hemorrhoid Artery Ligation (Doppler-guided hemorrhoid artery ligation with recto-anal repair)
    รักษาได้เฉพาะริดสีดวงภายในขนาดเล็ก เป็นการใช้เครื่องมืออัลตราซาวด์ (Doppler ultrasound probe) ตรวจหาขั้วเส้นเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารแต่ละอัน แล้วเย็บรวบผูกขั้วเส้นเลือดนั้นๆ โดยไม่ได้ตัดเอาหัวริดสีดวงที่อักเสบออกไป เพื่อหวังว่าหัวริดสีดวงจะฝ่อไป จึงเหมาะกับริดสีดวงทวารขนาดเล็กเท่านั้น และ ในระยะยาวมีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวารมีหลายเส้น หรือ เมื่อเย็บผูกแล้ว ร่างกายก็สามารถมีเส้นเลือดแขนงใหม่งอกมาเลี้ยงหัวริดสีดวงที่ไม่ได้ตัดออก จึงมีโอกาสที่จะบวมอักเสบได้อีก

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

ผ่าตัดริดสีดวง พักฟื้นกี่วัน และวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 3 ถึง 14 วัน ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัด บางรายอาจจำเป็นต้องหยุดพักฟื้นนาน เนื่องจากอาการปวดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดริดสีดวง ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เดิน หรือยืนเป็นเวลานาน ประมาณ 7 วันสำหรับการผ่าตัดริดสีดวงแบบมาตรฐาน

ส่วนกรณีผ่าตัดด้วยวิธี Hemorrhoid Artery Ligation, การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler), หรือการผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์ ระยะเวลาพักฟื้นมักจะสั้นลงเนื่องจากอาการปวดหลังผ่าตัดมักไม่รุนแรง เช่น ข้อดีของการผ่าตัดริดสีดวงแบบเลเซอร์คือ ใช้เวลาผ่าตัดไม่นานเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ผู้ป่วยจะไม่มีบาดแผลจากการผ่าตัด เจ็บน้อยมาก ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันหรือทำงานได้ตามปกติ

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดริดสีดวง หลังการผ่าตัดจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกไหม

ความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร นอกจากอาการปวดแล้ว ยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ภาวะปัสสาวะไม่ออก เลือดออกหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ภาวะรูทวารตีบ และอาการกลั้นอุจจาระไม่ได้ (Fecal incontinence)

หลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร แม้จะรักษาโรคริดสีดวงทวารได้ก็จริง แต่ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ ทางที่ดีควรแก้ไขที่ต้นเหตุ นั่นก็คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายและการใช้ห้องน้ำ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

วิธีป้องกันโรคริดสีดวงทวาร ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

  1. ขับถ่ายเป็นเวลา และ ไม่นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน
  2. รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มกากใยอาหาร กระตุ้นการขับถ่ายให้ง่ายขึ้น อุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง
  3. ดื่มน้ำให้มาก สม่ำเสมอ อุจจาระจะไม่แห้งแข็ง ขับถ่ายได้ง่าย
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ขับถ่ายได้คล่องขึ้น

ทีมศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลสมิติเวช

รู้จักกับคุณหมอชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล

นายแพทย์ชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีประสบการณ์การผ่าตัดแบบส่องกล้องและการผ่าตัดแบบเปิด (ในเคสที่ไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้) มานานกว่า 40 ปี ทั้งการผ่าตัดส่องกล้องริดสีดวง ผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อน ผ่าตัดรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ มากกว่า 1,000 ราย

รู้จักกับคุณหมอพรเทพ ประทานวณิช

นายแพทย์ พรเทพ ประทานวณิช MD, FACS, FASMBS, FRCST แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง ผ่าตัดไส้เลื่อน ไส้ติ่ง ระบบทางเดินอาหารและช่องท้อง รวมถึงการศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้องลดความอ้วน

มีประสบการณ์การผ่าตัดผ่านกล้อง มานานกว่า 10 ปี และยังมีประสบการณ์การผ่าตัดในประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า 5 ปี รวมถึงมีประสบการณ์การผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก, ฝีคัณฑสูตร, มะเร็งลำไส้ใหญ่, ผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง, ไส้ติ่ง และอื่นๆ มากกว่า 1000 ราย

ห้องผ่าตัด Critical Care Complex (CCC) นวัตกรรมการผ่าตัดยุคใหม่

การตรวจคัดกรองก่อนผ่าตัด (COVID-19 Screening)

เพิ่มความมั่นใจในการผ่าตัดให้ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19 โดยมีบริการตรวจหาเชื้อก่อโรค COVID-19 ก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยทุกราย และบริการตรวจฟรีในทุกการผ่าตัด ที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้ารับบริการ กรุณานัดหมายล่วงหน้าและตรวจก่อนผ่าตัด 1-2 วัน

มาตรฐานป้องกันไวรัส COVID-19 ในโรงพยาบาลสมิติเวช

มาสมิติเวช สบายใจได้ในทุกการสัมผัส เพราะเราใช้เทคโนโลยีฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UVC ที่ช่วยลดการปนเปื้อนและลดโอกาสในการติดเชื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% โดยเราใช้เทคโนโลยีนี้ฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นผิวที่ได้รับการสัมผัสเป็นประจำ เช่น ห้องพักผู้ป่วย เตียงผู้ป่วย ห้องผ่าตัด ห้องน้ำ เครื่องมือทางการแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ

บริการ Samitivej PACE ติดตามคนไข้ทุกสถานการณ์ผ่าตัด

เพราะ #เราไม่อยากให้ใครกังวล โรงพยาบาลสมิติเวชจึงมีบริการ Samitivej PACE ระบบติดตามทุกสถานะการผ่าตัด ช่วยให้เราสามารถรู้สถานะคนไข้ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนใด เช่น กำลังอยู่ในห้องผ่าตัดหรือห้องพักฟื้น โดยไม่ว่าญาติผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าไปดูสถานะการผ่าตัดได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านมือถือ เพียงแอดไลน์ @Samitivej และรับรหัสการเข้าใช้งาน

บริการ Samitivej PROMPT พร้อมอยู่ข้างคุณทุกเวลา เมื่อพักรักษาในโรงพยาบาล

ด้วยระบบติดตามแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยใน แสดงข้อมูลกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย รายชื่อทีมแพทย์และผู้ดูแล พร้อมระบบฝากข้อความถึงแพทย์ที่ให้การรักษา รวมถึงให้ผู้ป่วยเลือกเวลางดรบกวนได้ และยังมีการแสดงค่ารักษาพยาบาลด้วย แอดมิดเมื่อไหร่ ก็อุ่นใจได้ เพียงแจ้งความประสงค์การใช้ระบบกับพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลท่าน

หมายเหตุ: เฉพาะแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เข้าถึงแอปพลิเคชันนี้

ผ่าตัดริดสีดวงราคาเท่าไหร่ ใช้สิทธิประกันภัยได้หรือไม่

สมิติเวชมีทีมพร้อมช่วยเหลือและให้บริการ

  • ปรึกษาแผนการรักษากับแพทย์ วีดีโอคอลผ่านทางออนไลน์ (Second Opinion)
  • วางแผนการรักษาหากมีประวัติการรักษาหรือใบประเมินราคาจากโรงพยาบาลอื่น
  • วางแผนค่าใช้จ่ายโดยทีมประเมินราคา พร้อมการันตีราคาให้ (เฉพาะหัตถการที่มีแพ็กเกจที่ไม่มีความซับซ้อน)
  • ตรวจสอบสิทธิความคุ้มครองเบื้องต้นกับบริษัทประกัน ทั้งไทยและต่างประเทศ (เฉพาะบริษัทประกันคู่สัญญา)

ขั้นตอนการใช้บริการ ปรึกษาหมอออนไลน์